เทคนิคการเขียนสีไม้
สีไม้หรือ ดินสอสี สื่อใกล้ตัวที่เรามองข้าม ทุกอย่างอยู่ที่การฝึกฝน ดินสอเพียงหนึ่งแท่งก็สามารถทำให้ภาพสวยงามอย่างไม่น่าเชื่อ ถ้าเราเบื่อการวาดเส้นขาวดำ การเริ่มต้นมาใช้ดินสอสีก็นับว่าน่าสนใจ ข้อดีคือเราสามารถแก้ปัญหาได้ง่ายกว่า การใช้สีที่เป็นลักษณะของเหลว สีแทบทุกเฉดมีให้เราเลือกโดยที่ไม่ต้องผสมมากมาย และไม่หลงโทนสี
ข้อเสียน่าจะเป็น หากเราเขียนหนา ทับมากเกินไปสีจะจับตัวเป็นไข ทำให้ลงทับไม่ได้
ข้อเสียน่าจะเป็น หากเราเขียนหนา ทับมากเกินไปสีจะจับตัวเป็นไข ทำให้ลงทับไม่ได้
วาดลงบนกระดาษร้อยปอนด์เรียบสีที่ใช้คือ Faber castell
หลังจากเตรียมอุปกรณ์เรียบร้อยแล้ว ก็เริ่มขั้นตอนแรก คือเราจะวางตำแหน่งของรูปก่อน เช่นเราจะกำหนดให้มีความสูงเท่าไหร่ กว้างเท่าไหร่ เพื่อให้เวลาร่างลงไปจะได้ไม่เกินหน้ากระดาษ หรือเล็กเกินไป จนดูไม่เหมาะสม จากนั้นวางตำแหน่งต่างๆของวัตถุโดยไม่ต้องสนใจรายละเอียด แต่มองให้เป็นรูปทรงง่าย ๆ เช่น สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม วงกลม วงรี ขั้นตอนนี้ใช้สีไม้ สีม่วงในการร่าง ถ้าใช้ดินสอดำจะสกปรก โดยร่างเบา ๆ แค่พอมองเห็น
เริ่มใส่รายละเอียดในขั้นตอนต่อไป
จากนั้นเก็บรายละเอียดอีกรอบ
เริ่มลงสี ดินสอสีอาจจะให้ได้ไม่ทุกเฉดสีแต่เราสามารถผสมได้โดยการลงผสมกัน ทับไปทับมา แต่อย่ามากเกินไปนะครับ มันจะเป็นไข อันนี้ต้องลองดูว่าแค่ไหน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับยี่ห้อของดินสอสีด้วยครับ บางยี่ห้อลงไปไม่ค่อยมีเนื้อสี บางยี่ห้อถ้าเป็นสีไม้แบบระบายน้ำ อาจไม่เหมาะที่จะทับหลายชั้น เพราะจะจับตัวเป็นสะเก็ดและลงทับมากไม่ได้ เริ่มที่ลงสีภาพรวมก่อนน่ะ
ลงเพื่อให้เห็นโทนสีโดยรวมโดยไม่ต้องสนใจรายละเอียดมากนัก
ลงโดยรวมแล้ว ชั้นที่สอง ก็เก็บรายละเอียดมากขึ้น สีที่ลงในวัตถุแต่ละอย่าง จะผสมหลาย ๆ สีเข้าไป โดยเปรียบเทียบสีกับต้นแบบอยู่เรื่อย ๆ ระบายทับไปทับมา อย่าลืมมองแสงเงาประกอบไปด้วย
พยายามจัดแสงให้มองง่ายที่สุด ทุกอย่างจะเกิดมิติก็ด้วยน้ำหนัก และแสงเงา
ถึงขั้นตอนนี้ก็รองพื้นเสร็จแล้วครับ อาจจะมีความรู้สึกว่าช้า กว่าจะระบายได้เต็มพื้นที่ แต่จะเร็วกว่าสีชนิดที่เป็นของเหลวเพราะเราสามารถหยิบสีโทนต่าง ๆ มาใช้ได้ทันที โดยที่ไม่ต้องมาผสมใหม่ การใช้สีไม้เหมือนกับการวาดเส้นด้วยดินสอเลยครับ ตรงไหนน้ำหนักเข้มก็กดหนักหน่อย ตรงไหนน้ำหนักเบาก็ลงแผ่ว ๆ หากกดเต็มที่แล้วยังไม่ได้น้ำหนักที่ต้องการ ค่อยเปลี่ยนสีให้เข้มขึ้น
เก็บรายละเอียด เริ่มจากพื้นสีเขียว สังเกตว่าไม่ได้มีเพียงสีเขียวอ่อน กลางเข้มเท่านั้น แต่ยังมีสีน้ำตาลแดง เข้ามาเบรก จะทำให้เขียวไม่จัดเกินไป และยังทำให้สีโดยรวมกลมกลืนกันด้วย
เสร็จเรียบร้อย จานสีขาว สังเกตเงา เลือกใช้สีเทาอมม่วง ส่วนของเงาตกทอดของวัตถุอื่น ๆ จะใช้น้ำเงินเข้ม+น้ำตาล ในภาพนี้ไม่ได้ใช้สีดำเลย สีอาจจะไม่ได้ตามต้นแบบซะทีเดียว ก็ใช้ผสมกันไปมา หากวัตถุเป็นสีโทนร้อนผมมักเลือกใช้สีโทนเย็นมาเบรกในส่วนเงา เช่นเดียวกันหากวัตถุเป็นโทนเย็น ก็เอาโทนร้อนมาเบรก
อุปกรณ์น้อย ทำงานได้สะดวกทุกที่ทุกเวลา เวลาลงสีผิด พอจะลบออกได้บ้างแต่ไม่สะอาด เหมาะสำหรับมือใหม่ที่ยังน้ำหนักมือไม่มั่นคง การมองแสงเงายังไม่เก่ง และยังได้ฝึกผสมสีเบื้องต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น